รายงานตัว..ครับผม

รายงานตัว..ครับผม
นายเอกพันธ์ อรกุล..ครับ

ความทรงจำดีๆ

วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

พิณ ซุง ซึง

1. พิณ ซุง ซึง : กีตาร์แบบคนอีสาน
พิณพื้นเมือง ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปเช่น ทางจังหวัดอุบลราชธานี เรียกพิณว่า "ซุง" น่าจะเรียกมาจากท่อนไม้ที่นำมาทำ ทางจังหวัดชัยภูมิเรียกว่า "เต่ง" หรือ "อีเต่ง" หนองคายเรียกว่า "ขยับปี่" นอกจากนั้นยังมีเรียกแตกต่างออกไปอีก เช่น ซึง หมากจับปี่ หมากตดโต่ง หมากตับเต่ง เป็นต้น พิณทำด้วยไม้ เช่น ไม้ขนุน (ไม้บักมี่) เพราะมีน้ำหนักเบาและให้เสียงทุ้มกังวานไพเราะกว่าไม้ชนิดอื่น มีรูปร่างคล้ายกีตาร์แต่ฝีมือหยาบกว่า พิณอาจจะมี 2 สาย 3 สาย หรือ 4 สายก็ได้ โดยแบ่งออกเป็น 2 คู่ เป็นสายเอก 2 สาย และสายทุ้ม 2 สาย ดั้งเดิมใช้สายลวดเบรครถจักรยานเพราะคงทนและให้เสียงดังกว่าสายชนิดอื่น แต่ในปัจจุบันนิยมใช้สายกีตาร์แทน การขึ้นสายไม่มีระบบแน่นอน นมหรือขั้น (Fret) ที่ใช้นิ้วกดบังคับระดับเสียงจะไม่ฝังตายตัวเหมือนกีตาร์หรือแมนโดลิน การเล่นก็เล่นเป็นเพลงเรียกว่าลาย โดยมากพิณจะเล่นคู่กันกับแคน

2. ลักษณะของพิณอีสาน
พิณอีสาน มีส่วนประกอบหลักๆ 7 ส่วนดังนี้
1. ตัวพิณ หรือเต้าพิณ ส่วนใหญ่ทำจากไม้ที่มีน้ำหนักเบา เนื้อไม้ที่นิยมกันมากคือ ไม้ขนุน (ไม้บักมี่) เพราะให้เสียงที่ทุ้มกังวาน มีน้ำหนักเบา ถ้าเป็นแก่นที่นำมาจากต้นที่มีอายุมากจะให้สีสัน เมื่อเคลือบด้วยแชลแลคหรือยูรีเทนแล้วสวยงามดี ไม้ที่นำมาทำเต้าพิณจะขุดให้เป็นโพรงเพื่อให้เกิดการก้องกังวาลของเสียง เสียงที่ได้จากพิณขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาผลิต เต้าพิณที่มีขนาดใหญ่และลึกจะมีเสียงดังกว่าเต้าพิณที่มีขนาดเล็กและตื้น
2. คอพิณ ทำจากไม้เนื้อแข็ง เหลาผิวให้เกลี้ยง คล้ายกับคอของกีตาร์ ส่วนต้นต่อเข้ากับตัวเต้าพิณ ตกแต่งให้เป็นเนื้อเดียวกัน (หากได้ไม้ที่เหมาะสม อาจทำเต้าพิณและคอพิณเป็นชิ้นเดียวกันตลอดได้) ส่วนปลายทำเป็นร่องสำหรับใส่ลูกบิดขึ้นสาย
3. ขั้นแบ่งเสียง ทำจากซี่ไม้ไผ่แบน ๆ หันด้านติว (ด้านผิว) ขึ้นรองรับสาย ยึดติดคอพิณด้วยขี้สูด (เป็นขี้ผึ้งเหนียวสีดำ ได้จากรังของผึ้งป่าตัวเล็กๆ สีดำ มีปลายปีกสีขาว ทำรังในโพรงไม้ใต้ดิน รังผึ้งชนิดนี้มีน้ำหวานน้อยมาก แต่มีประโยชน์ในการทำแคนและทำโหวดมาก เพราะเหนียวไม่ติดมือและไม่แห้งกรอบแม้จะใช้เวลาสิบๆ ปีก็ตาม)
4. หย่อง ทำจากซีกไม้ไผ่เหลาให้แบน มีติวด้านหนึ่ง แต่งรูปให้โค้งนิดหน่อยและปาดความสูงให้พอเหมาะกับการพาดสาย ติดให้ห่างจากระดับคอพอที่ที่จะกดนิ้วได้สะดวก
5. ลูกบิดขึ้นสาย ทำจากไม้เนื้อแข็งหรือไม้ไผ่ ปัจจุบันมีการนำเอาลูกบิดขึ้นสายของกีตาร์มาใช้แทนเพราะสะดวกในการขึ้นสายและปรับแต่งเสียงมากกว่า
6. สายพิณ ทำจากลวดเส้นเล็กๆ แต่แข็ง เช่น สายเบรกจักรยาน สายคลัชรถยนต์ หรือลวดสลิงอ่อน ปัจจุบันนิยมใช้สายกีตาร์เหล็กมาทำแทน ตามขนาดดังนี้
1. สายที่ 1 ขนาด 009
2. สายที่ 2 ขนาด 011 หรือ 012
3. สายที่ 3 ขนาด 0016
4. สายที่ 1 ขนาด 022 หรือ 024 (เฉพาะพิณ 4 สาย)
7. ปิ๊ก หรือที่ดีดสายพิณ แต่ก่อนทำจากเขาควาย ปัจจุบันหายาก จึงใช้ขวดน้ำพลาสติกแทน โดยนำมาตัดตกแต่งให้เหมาะมือ มีปลายด้านหนึ่งแหลมมนและอ่อน มีปริงใช้สำหรับดีด (เพราะสายเบรกจักรยานจะแข็งมากๆ) เมื่อพัฒนามาใช้สายกีตาร์แทนก็เลยนำเอาปิ๊กดีดกีตาร์มาแทนด้วยเสียเลย

3. การขึ้นสายของพิณอีสาน
พิณอีสานนั้นมีทั้งแบบพิณ 2 สาย 3 สาย และ 4 สาย
พิณ 2 สาย
-สาย 1 เป็นสายเอก ขึ้นสายเปล่าเป็นเสียง มี
-สาย 2 เป็นสายทุ้ม ขึ้นสายเปล่าเป็นเสียง ลา
พิณ 3 สาย
-สาย 1 เป็นสายเอก ขึ้นสายเปล่าเป็นเสียง มี
-สาย 2 เป็นสายทุ้ม ขึ้นสายเปล่าเป็นเสียง ลา
-สาย 3 จะขึ้นสายเป็นเสียงประสาน
พิณ 4 สาย
สองสายล่าง เป็นเสียง โด เป็นเสียงคู่แปด (สายแรก โดต่ำ สายสอง โดสูง)
สองสายบน ขึ้นเสียงเป็น ซอล เป็นเสียงคู่แปด (สายสอง ซอลต่ำ สายหนึ่ง ซอลสูง)



4. การติดขั้นแบ่งเสียงของพิณอีสาน
การติดขั้นแบ่งเสียงลงบนคอพิณ ทำได้หลายสเกล (Scale หมายถึง ขั้นของเสียง) ตามแต่ชนิดของเพลงที่จะใช้พิณบรรเลง เพราะขั้นของพิณนั้นสามารถเคลื่อนที่ได้ เนื่องจากการใช้ขี้สูดติด ขั้นแบ่งเสียงเข้ากับคอพิณ แต่ส่วนใหญ่นักดนตรีอีสาน จะแบ่งสเกลเสียง โด เร มี ซอล ลา เป็นพื้นฐาน เพราะเพลงที่เล่นมักจะเป็นเพลงที่มาจากลายแคนเป็นส่วนใหญ่ มีช่างทำพิณหลายคนแบ่งสเกลเสียงตามแบบไมเนอร์อยู่บ้าง คือ ในชั้นเสียงที่ 3 และ 6 เป็นครึ่งเสียง นอกนั้นเต็มเสียงและเนื่องจากเครื่องดนตรีตะวันตกจำพวกกีตาร์เข้ามาได้รับความนิยมในหมู่นักดนตรีรุ่นใหม่ นักดนตรีเหล่านั้นปรับปรุงการแบ่งสเกลเสียงของพิณให้เหมือนสเกลของกีตาร์ไปเลยก็ย่อมได้เหมือนกัน ซึ่งจะทำให้เหมาะกับการเล่นเพลงสากล

วิธีดีดพิณอีสาน
1. มือซ้ายคุมคอซอง ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนางและนิ้วก้อย กดเสียงที่ต้องการตามลายพิณและการแบ่งเสียงตามแบบต่าง ๆ นิ้วโป้งออกแรงกดรับกับนิ้วทั้ง 4
2. มือขวาดีดสายตรงลำโพงเสียง อาจดีดด้วยนิ้วโป้งหรือใช้ปิ๊กดีดก็ได้ เวลาดีดสาย 1 และสาย 2 เพื่อเล่นทำนอง ให้ดีดสาย 3 เป็นเสียงประสานด้วยซึ่งเสียงของสาย 3 นี้ จะทำหน้าที่เหมือนกับการเคาะลูกเสิบของโปงลางหรือลูกติดสูดของแคน คือทำหน้าที่เป็นเสียงประสานไปตลอดเพลง


5. ลายพิณอีสาน
คำว่า ลาย หมายถึง ท่วงทำนองเพลงที่ใช้เป่าหรือบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีอีสาน ซึ่ง ลาย ก็คือ เพลง นั่นเอง เพลงที่ใช้กับพิณ เป็นเพลงที่มาจากลายแคน มีหลายลาย เช่น ลายใหญ่ ลายน้อย ลายลำเพลิน ลายนกไทรบินข้ามทุ่ง ลายแมลงภู่ตอมดอก ลายลมพัดไผ่ ลายกาเต้นก้อน ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก ลายไล่งัวขึ้นภู ลายโป้ซ้าย ภูไทเลาะตูบ เต้ยหัวดอนตาล ลายสร้อยสีกซิ่น เซิ้งขิก มโนราห์ ศรีโคตรบูรณ์ สังข์ศิลป์ชัย ลมพัดพร้าว เซิ้งกลองยาวทองสร้อย เป็นต้น

6. การประยุกต์ใช้
พิณใช้เล่นกับวง ซอ โปงลาง แคน หมอลำ กลองยาวและจะมีเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ เช่น กลอง กรับ ฉิ่ง ฉาบและไหซอง เป็นต้น

7.การขึ้นสาย/ตั้งสายพิณ
การขึ้นสายพิณ หรือการตั้งสายพิณ หรือการตั้งเสียงพิณ นั้นจะพบว่ามีความแตกต่างกันตามลักษณะของพิณว่า มีกี่สาย และใช้เล่นเพลงแบบใด พบว่ามีอยู่ 4 ลักษณะ ดังนี้
แถบอีสานกลาง ในแถบบริเวณจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ จะใช้พิณแบบ 2-3 สาย โดยมีการตั้งสายดังนี้

สายที่ 1 สายล่างเสียง ม (E) สายที่ 2 สายกลางเสียง ล (A) สายที่ 3 สายบนเสียง ม (E)



2. แบบโบราณดั้งเดิม จะใช้พิณแบบ 2 สายหรือ 3 สาย จะมีการตั้งสายและเฟรตไม่ค่อยแน่นอน แล้วแต่ลายเพลงที่เล่น โดยมีการตั้งสายดังนี้
สายที่ 1 สายล่างเสียง ม (E) สายที่ 2 สายกลางเสียง ล (A) สายที่ 3 สายบนเสียง ล (A)

3. แบบ 2 สายทางอุบลราชธานี จะใช้พิณแบบ 2 สายหรือ 3 สาย จะมีการตั้งสายครั้งเดียว นิยมเล่นกับขบวนแห่ หมอลำเพลิน หมอลำหมู่ ดนตรี หมอลำซิ่ง โดยมีการตั้งสายดังนี้
สายที่ 1 สายล่างเสียง ร (D) สายที่ 2 สายกลางเสียง ล (A)

แบบพิณ 4 สาย พิณชนิดนี้ประดิษฐ์ขึ้นโดยลูกหลานเมืองอุบลราชธานี นายคณาวิจก์ โถตะบุตร เมื่อปี 2524 ซึ่งสามารถเล่นได้หลายระดับเสียง รวมทั้งเล่นคอร์ดได้คล้ายกับกีตาร์ จึงสามารถเล่นร่วมกับเพลงลูกทุ่ง หมอลำ หรือเพลงสากลอื่นๆ โดยไม่ต้องใช้กีตาร์ มีการตั้งสายดังนี้
สายที่ 1 สายล่างเสียง ร (D) สายที่ 2 สายกลางเสียง ล (A) สายที่ 3 สายกลางบนเสียง ม (E) สายที่ 4 สายบนเสียง ล (A)
ซึ่งการตั้งสายพิณแบบ 4 สายนี้จะทำให้ได้เสียงที่ตรงกับเสียงเครื่องดนตรีสากล สามารถร่วมบรรเลงไปด้วยกันได้ มีเสียงครบตั้งแต่ โด (ด = C), เร (ร = D), มี (ม = E), ฟา (ฟ = F), ซอล (ซ = G), ลา (ล = A), ที (ท = B) และยังมีครึ่งเสียงทั้งสูงกว่าเสียงเดิม ชาร์ฟ (#) และที่มีเสียงต่ำกว่าเสียงเดิมครึ่งเสียง แฟท (b)

หลักการเล่นพิณ
1. จับที่ดีด (หรือปิก) ตามถนัด แล้วฝึกดีดขึ้นลงในแต่ละสายให้คล่องโดยการสลัดข้อมืออย่างสม่ำเสมอ (ควบคุมจังหวะในการดีดให้สม่ำเสมอ)
2. เมื่อดีดคล่องแล้วให้ใช้นิ้วกดสายลงบนเฟรตที่ดีดให้ตรงกับสายที่ดีด
3. ฝึกไล่ลำดับเสียงตามตัวโน๊ตและตามชนิดของพิณ (ต้องทราบว่าพิณที่เราใช้ตั้งสายแบบใด)
4. รายละเอียดลูกเล่นควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือฝึกจากการฟังเสียงจากต้นฉบับต่างๆ ให้แม่นยำ
5. ถ้าเป็นพิณไฟฟ้า สามารถต่อเข้ากับเครื่องปรับแต่งเสียง (Effect) ได้เหมือนกับกีตาร์ ให้ทดลองปรับแต่งเพื่อหาเอกลักษณ์ตามที่ต้องการ

วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

.....คำถามท้ายหน่วยการเรียนที่ 1.....

1. บอกความหมายของเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา
- เทคโนโลยี หมายถึง การนำเอากระบวนการ วิธีการ และแนวความคิดใหม่ๆ มาใช้หรือประยุกต์ใช้อย่างมีระบบเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
- นวัตกรรมทางการศึกษา หมายถึง ความคิดและวิธีการปฏิบัติใหม่ๆ ที่ส่งเสริมให้กระบวนการทางการศึกษามีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น การสอนแบบโปรแกรม การสอนแบบบูรณาการ

2. ยกตัวอย่างเทคโนโลยีและนวัตกรรมในสาขาต่างๆ มาอย่างน้อย 5สาขา
- เทคโนโลยีทางการทหาร Military Technology
- เทคโนโลยีทางการแพทย์ Medical Technology
- เทคโนโลยีทางการเกษตร Agricultural Technology
- เทคโนโลยีทางการศึกษา Educational Technology
- เทคโนโลยีทางการค้า Commercial Technology

3. อธิบายเปรียบเทียบความหมายของเทคโนโลยีทางการศึกษาตามทรรศนะทางวิทยาศาสตร์กายภาพและทรรศนะทางพฤติกรรมศาสตร์ให้ชัดเจน
.....ทรรศนะทางวิทยาศาสตร์กายภาพ จะมุ่งไปที่วัสดุ อุปกรณ์ หรือผลงานการสร้างสรรค์การประดิษฐ์ทางวิศวกรรมเป็นสำคัญ แต่ทางพฤติกรรมศาสตร์จะมุ่งไปที่การกระทำของบุคคลเป็นสำคัญ โดยมองว่ามนุษย์มีความแตกต่างกันในด้านต่างๆ จึงควรจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของแต่ละบุคคล

4. บอกความหมายของการศึกษาตามความเข้าใจของบุคคลในระดับต่างๆ อย่างน้อย 3 ระดับ
- บุคคลธรรมดาสามัญ ความหมายตามพจนานุกรม อธิบายว่า การศึกษาเป็นการเล่าเรียน การฝึกฝน และการอบรม
- บุคคลในวิชาชีพทางการศึกษา ให้ความหมายว่า การศึกษาเป็นศิลปะการถ่ายทอดความรู้จากอดีต รวบรวมอย่างเป็นระบบเพื่อให้คนรุ่นหลังเข้าใจและฝึกปฏิบัติ
- บุคคลที่เป็นนักการศึกษา คือ การช่วยเหลือบุคคลให้ค้นพบวิธีการดำเนินชีวิตในทางที่ชอบและเหมาะสมแก่ตน

5. เทคโนโลยีทางการศึกษามีกี่ระดับ แต่ละระดับมีความหมายอย่างไร
มี 3ระดับ
1. ระดับอุปกรณ์การสอน ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องช่วยในการเรียนการสอน
2. ระดับวิธีสอน เช่น การสอนทางไกล เอกสารทางไปรษณีย์
3. ระดับการจัดระบบการศึกษา เช่น ระบบสอนทางไกลของมหาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งผู้เรียนไม่เคยเห็นครูเลย

6. อธิบายข้อแตกต่างและความสัมพันธ์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างชัดเจน
เทคโนโลยีจะเป็นความใหม่ของเครื่องมือส่วนนวัตกรรมจะเป็นความใหม่ทันการกระทำของบุคคล ความสัมพันธ์ คือทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยความคิดหรือการกระทำใหม่ๆ จะถูกนำมาใช้ก่อนจนกว่าจะถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบงานในปัจจุบันความคิดหรือการกระทำใหม่ๆ ที่เรียกว่า นวัตกรรม และก็จะกลายเป็นเทคโนโลยีทันที

7. บอกขั้นตอนในการเกิดนวัตกรรมมาให้ถูกต้อง
- ขั้นการประดิษฐ์คิดค้น
- ขั้นการพัฒนาการหรือขั้นการทดลอง
- ขั้นการนำไปใช้หรือปฏิบัติจริง

8. จงบอกถึงบทบาทของเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษากับการจัดการเรียนการสอนมาอย่างน้อย 5 ข้อ
- ช่วยให้ผู้เรียนเรียนได้กว้างขวางมากขึ้นและทำให้ผู้สอนมีเวลาแก่ผู้เรียนมากขึ้น
- มีการค้นคว้าวิจัย ทดลอง ค้นพบวิธีการใหม่
- มีการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน ให้สะดวกต่อการใช้มากขึ้น
- ช่วยเพิ่มโอกาสทางการเรียนการสอนให้มากขึ้น เช่นการเรียนผ่านสื่อมวลชน
- อิสระในการแสวงหาความรู้มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมมากขึ้น

9. ยกตัวอย่างนวัตกรรมทางการศึกษาในปัจจุบันมาอย่างน้อย 3 ชนิด
-การสอนแบบโปรแกรม
- การสอนแบบจุลภาค
- เครื่องช่วยสอน

10. จงอธิบายถึงสาเหตุของการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ทางการศึกษา 3 ข้อ
- การเพิ่มจำนวนประชากร
- การเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและสังคม
- ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการใหม่ๆ
11. จงอธิบายถึงแนวคิดในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับการศึกษาไทย อย่างน้อย 5 ประการ
- การไม่นับถือตน คนไทยขาดความเชื่อมั่นและไม่นับถือตนเอง มีการสอนแบบครูเป็นศูนย์กลาง ครูเอาใจใส่นักเรียนไม่ทั่วถึง
- การไม่เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม การเข้ามาในเมืองหลวงลืมวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของภาคต่างๆ
- คนไทยไม่กล้าแสดงออกแสดงความคิดเห็น
- ไม่รู้จักการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะอย่างมีประสิทธิภาพ
- ขาดความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม

12. ยกตัวอย่างและหาแนวทางแก้ไขของการขาดลักษณะที่พึงประสงค์ของคนไทยอย่างน้อย 3 ประการ
- สอนให้คนไทยกล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็น
- สอนให้คนไทยรู้จักปฏิบัติงานร่วมกันเป็นหมู่คณะอย่างมีประสิทธิภาพ
- สอนให้คนไทยรูจักแสวงหา และมีความรับผิดชอบ

วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2551

..ศิลปะของไทย..มวยไทยของเรา..

...มวยไทยเป็นการเล่นพื้นบ้าน ที่มีคุณลักษณะของการต่อสู้ป้องกันตัว
ด้วยการใช้อวัยวะในส่วนที่สามารถใช้ทำอันตรายคู่ต่อสู้ได้ มาใช้งานอย่างชาญฉลาด และมีศิลปอย่างสูง เช่น หมัด ศอกแขน เท้า แข้ง และเข่าเป็นต้น ...
...นับเป็นศิลปะประจำชาติ และเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นประการหนึ่งของคนไทย ได้มีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างจริงจังในหมู่ทหาร
เพราะในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ต้องผจญกับศึกสงครามมาโดยตลอด มีการจัดตั้งสำนักมวยขึ้นฝึกสอนกันโดยทั่วไป ...
...ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีผู้ที่ชื่อเสียงโด่งดังในเชิงมวยไทย จนเป็นที่เลื่องลือมาจนถึงปัจจุบันคือ นายขนมต้ม ที่สามารถใช้วิชามวยไทย เอาชนะศัตรูได้เป็นจำนวนมาก แม้แต่พระมหากษัตริย์ของไทยบางพระองค์ก็ทรงโปรดปราณ และมีความสามารถในวิชามวยไทย เช่น พระเจ้าเสือหรือ ขุนหลวงสรศักดิ์ ...
...ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงส่งเสริมวิชามวยไทยให้แพร่หลายยิ่งขึ้น โดยทรงจัดให้มีการแข่งขันชกมวยไทยการกุศล เพื่อเก็บรายได้ไปบำรุงกองเสือป่าขึ้นที่เวทีมวยโรงเรียนสวนกุหลาบ เมื่อ พ.ศ. 2463 ...
...สำหรับเวทีมวยไทยอื่นๆ ในครั้งนั้นก็มี เวทีสวนเจ้าเชตุและเวทีหลักเมืองเป็นต้น ...
...การชกมวยไทย เป็นการชกด้วยหมัดเปล่าๆ ต่อมาเมื่อมีการแข่งขัน ก็ได้มีการคาดเชือกที่มือ และในระยะต่อมา จึงใช้สวมนวมแทนแบบมวยสากล...